Tuesday, January 1, 2008

อาหารที่กินกันมากที่สุดในโลก

อาหารที่กินกันมากที่สุดในโลก คือ ข้าว

ข้าวยาคู
ข้าวยาคู เป็นผลิตภัณฑ์แรกสุดที่ได้จากข้าวเจ้า ข้าวยาคูทำจากเมล็ดข้าวอ่อน เป็นเมล็ดข้าวที่มีเนื้อข้าวอยู่แล้วแต่ยังไม่ถึงเวลาที่จะเก็บเกี่ยวได้ วิธีทำข้าวยาคู ให้นำข้าวอ่อนทั้งรวงมาตำให้เปลือกแตกออก เนื้อข้าวสีขาวผสมกับสีเขียวของเปลือกข้าวและก้านรวง ทำให้ได้น้ำข้าว สีเขียวอ่อนดูน่ากิน นำน้ำข้าวนี้ไปต้มไฟ และคอยคนไม่ให้เป็นลูก ใส่น้ำตาลทรายให้ได้รสหวานอ่อนๆ จะได้ ข้าวยาคูเป็นอาหารธัญพืชที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีรสอร่อย และมีกลิ่นหอมของข้าวอ่อน เหมาะอย่างยิ่งสำหรับคนเจ็บ คนชรา คำว่า ยาคู เป็นคำภาษาบาลี แปลว่า ข้าวต้ม


ข้าวเม่า
ข้าวเม่า เป็นผลิตภัณฑ์อันดับแรกที่ได้จากข้าวเหนียว ข้าวที่จะทำข้าวเม่าจะแก่กว่าข้าวที่ทำข้าวยาคู เป็นข้าวที่ใกล้จะสุกแล้ว นำเมล็ดข้าวนี้มาคั่วพอสุกแล้วใส่ครกตำขณะยังร้อนๆ แล้วเอามาฝัดเอาเปลือกข้าวออก จะได้ข้าวเม่าเมล็ดแบนๆ ไว้สำหรับปรุงเป็นขนมต่อไป วิธีที่ง่ายที่สุดในการปรุงข้าวเม่ารับประทาน คือ การทำข้าวเม่าคลุก ให้พรมน้ำเกลือลงบนข้าวเม่าแล้วคลุกเคล้าให้ทั่ว ทำให้ข้าวเม่าอ่อนตัวและมีรสเค็มน้อยๆ ขูดมะพร้าวทึนทึกเป็นเส้น ๆ คลุกเคล้าเข้ากับข้าวเม่า และโรยน้ำตาลทราย ปรุงให้ได้รสหวานและเค็มเล็กน้อย รับประทานกับกล้วยไข่สุก ข้าวเม่าคลุก กับกล้วยไข่ เป็นของหวานของไทย ที่นิยมรับประทานกันมากอย่างหนึ่ง คำว่าเม่า พระยาอนุมานราชธนได้อธิบายว่า ในภาษาอาหม มีคำว่า มาง ซึ่งน่าจะเป็นคำเดียวกับคำว่า เม่า แปลว่า ทุบหรือตำให้เป็นแผ่นบาง ข้าวเม่า น่าจะแปลว่า ข้าวที่ทุบให้แบน

ข้าวเปลือก
ข้าวเปลือก หมายถึงเมล็ดข้าวเจ้า หรือข้าวเหนียวที่หลุดออกจากรวงแล้ว แต่ยังไม่ได้สี หรือตำเอาเปลือกออก แต่ข้าวเปลือก ๒-๓ เมล็ดที่หลงเหลืออยู่ในข้าวที่สีเรียบร้อยแล้ว เรียกกันว่ากากข้าว ถ้าข้าวที่สีแล้วมีกากมาก คนที่จะหุงข้าวมักจะเก็บกากข้าวออกเสียก่อน ชาวนาเก็บข้าวเปลือกไว้ในยุ้งหรือฉางข้าว และจะเปิดยุ้งหรือฉางเฉพาะเมื่อเวลาที่จะขายข้าว หรือต้องการเอาข้าวออกไปจำนวนมากเท่านั้น เพราะถือกันว่า หากเปิดปิดยุ้งฉางบ่อย ๆ อาจทำให้แม่โพสพ ซึ่งเป็นเทพธิดาหรือเทพีประจำข้าวโกรธ และไม่อยู่ดูแลให้ข้าวออกรวงดีในการเพาะปลูกในปีต่อไปก็ได้ ที่จริงการเปิดปิดยุ้งฉางบ่อยๆ อาจทำให้สัตว์ เช่น หนู หลงเข้าไปกินข้าว หรือทำให้ข้าวได้รับความชื้นจากอากาศมากไปก็ได้ จึงมีการถือไม่เปิดปิดยุ้งฉางบ่อยเกินความจำเป็น


ข้าวตก
ข้าวตก เป็นคำเรียกรวงข้าวที่หลงเหลืออยู่ในนา หลังจากที่เก็บเกี่ยวข้าวไปแล้ว ข้าวตกส่วนหนึ่งชาวนาจะเชิญเก็บไปให้เป็นตัวแทนของแม่โพสพ เรียกว่าข้าวแม่โพสพ ส่วนที่เหลือมักทิ้งให้เป็นทานแก่คนยากจนที่ไม่มีนาของตนเอง สามารถเก็บไปซ้อมกินได้ ปัจจุบัน การทำนาโดยใช้เครื่องจักรทำให้ไม่มีข้าวตกหลงเหลือในนา คนยากจนจึงไม่อาจ เก็บข้าวตกเลี้ยงชีวิตได้เหมือนแต่ก่อน

ข้าวตอก
ข้าวตอก ได้จากข้าวเปลือกที่คั่วให้แตกออกเป็นดอกขาว ใช้ข้าวเปลือกใหม่ๆ ที่ผึ่งแห้งสนิทแล้วมาคั่วไฟอ่อนๆ ให้ร้อนเสมอกัน เมื่อร้อนถึงขีดหนึ่งเนื้อในจะขยายบานออก ดันเปลือกให้ ขาดจากกัน เมื่อฝัดเอาเปลือกทิ้งไป จะได้ข้าวตอกไว้ใช้ในการทำพิธีต่างๆ หรือปรุงเป็นอาหารอื่นๆ เช่น ข้าวตอกน้ำกะทิ กระยาสารท ข้าวตอกตั้ง เป็นต้น ข้าวตอกเป็นข้าว ที่ขยายเม็ดออกบาน มีสีขาว เก็บไว้ได้นานไม่เสีย จึงถือเป็นสิ่งมงคลที่ใช้ในการทำพิธีมงคล ใช้โปรยรวมกับดอกไม้ และเงินทอง เป็นเคล็ดว่า ให้รุ่งเรืองเฟื่องฟูขยายออกได้ เหมือนข้าวตอก


ข้าวกล้อง
ข้าวกล้อง เป็นคำเรียกข้าวเจ้าที่ได้สีหรือตำให้เปลือกชั้นนอกหลุดออกจากเมล็ดข้าว และฝัดเอาเปลือกออกแล้ว เปลือกที่หลุดออกมานี้เรียกว่า แกลบ ส่วนข้าวที่ยังมีเปลือกหุ้มอยู่เรียกว่า ข้าวเปลือก เมล็ดข้าวที่สีเอาเปลือกออกแล้วนี้ยังมีเยื่อสีนวลๆ หุ้มเมล็ดอยู่อีก จึงต้องนำไปตำหรือสีอีกครั้งหนึ่งให้เยื่อที่หุ้มเมล็ดหลุดออกมามีลักษณะเป็นผงหยาบๆ เรียกว่า รำข้าว ส่วนเมล็ดข้าวจะเป็นข้าวขาว คำว่า กล้อง แปลว่า ตำข้าวเปลือกให้เปลือกหลุด ข้าวกล้อง จึงหมายถึง ข้าวที่ได้ตำให้เปลือกหลุดออกแล้ว หรือข้าวที่ถูกกล้องแล้ว ข้าวกล้องมักจะยังมีข้าวเปลือกปนอยู่มาก หากจะเก็บออกทิ้งก็จะเสียข้าวไปมาก ชาวนาจึงนำข้าวกล้องมาตำด้วยครกตำข้าวอีกครั้งหนึ่งด้วยครกตำข้าว ซึ่งเป็นครกขนาดใหญ่ ทำด้วยท่อนไม้ใหญ่ทั้งท่อน ขุดแต่งตรงกลางให้หวำลงไป ใช้สากซึ่งทำด้วยไม้ ถ้ามีกระเดื่องสำหรับตำข้าวก็ใช้กระเดื่อง แล้วจึงเรียกครกนั้นว่า ครกกระเดื่องด้วย ถ้าไม่มีกระเดื่องชาวนาจะใช้ ตะลุมพุกตำ ตะลุมพุกเป็นสากขนาดใหญ่ มีลักษณะเป็นท่อนไม้ใหญ่ ต่อด้ามขวาง ๙๐ องศา กับตัวสากสำหรับจับเหวี่ยงขึ้นเหนือศีรษะแล้วตำลงในครก เรียกว่า ซ้อม บาง ครั้งชาวนาจะใช้ คนสองคนหรือสามคนช่วยกันตำ โดยกะจังหวะให้ผลัดกันตำตะลุมพุกลงครก อาจมีการ ร้องให้จังหวะด้วย เมื่อตำหรือซ้อมแล้วจะได้ข้าวที่เรียกว่า ข้าวซ้อมมือ ข้าวซ้อมมืออาจจะยังมีข้าวเปลือกที่เป็นกากหลงอยู่อีก ชาวนาจะนำกากนั้นมาตำด้วยสากอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งทำด้วยไม้เป็นท่อนยาวประมาณ ๑ เมตร ๕๐ เซนติเมตร ตรงกลางเกลาให้คอดไว้เป็นที่จับ จากการศึกษาคุณค่าทางอาหารได้พบว่า ส่วนที่เป็นเยื่อสีนวลๆ ซึ่งหุ้มเมล็ดข้าวอยู่นั้น มีวิตามิน โดยเฉพาะวิตามินบี ซึ่งช่วยมิให้เป็นโรคเหน็บชา และสารอาหารอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายทำให้แข็งแรงมีสุขภาพดี ส่วนเนื้อเมล็ดข้าวภายในเป็นสารอาหารจำพวกแป้งเท่านั้น จึงมีการรณรงค์ชักชวนให้รับประทานข้าวที่มีเยื่อหุ้มสีนวลนี้มากขึ้น และที่เรียกกันว่า ข้าวกล้อง เพราะปัจจุบันนี้ข้าวกล้องที่สีด้วยเครื่องจักรเพียงครั้งเดียวเปลือกก็หลุดหมด เหมือนกับข้าวซ้อมมือ สามารถนำมากินได้โดยไม่ต้องซ้อมอีก


ข้าวสวย
ข้าวสารทำให้สุกได้ด้วยการต้ม นึ่ง หรือหุง ส่วนข้าวเหนียว ทำให้สุกได้ด้วยการนึ่ง คนที่กินข้าวเหนียวเป็นอาหารหลักจึงมักเรียกด้วยสำนวนว่า ลูกข้าวนึ่ง ข้าวสารที่หุงสุกแล้ว อาจเรียกว่า ข้าวสุก หรือข้าวสวย คำว่า สวย ในคำ ข้าวสวย ไม่ได้แปลว่า งาม แต่แปลว่า ร่วน ไม่ติดไม่เกาะกัน ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญที่แตกต่างกับข้าวเหนียว คำว่า สวย ที่แปลว่า ร่วน สันนิษฐานว่า เป็นคำจากภาษาเขมร ว่า สฺรวย แปลว่า ร่วน เปราะ



...............